Content on this page requires a newer version of Adobe Flash Player.

Get Adobe Flash player


คำนิยาม
จรรยาบรรณธุรกิจ หมายถึง แนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินธุรกิจ และข้อพึงปฏิบัติในการทำงาน
บริษัท หมายถึง บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
บริษัทย่อย หมายถึง บริษัทย่อยที่บริษัทเข้าไปถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่า ร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว
กรรมการบริษัท หมายถึง กรรมการของบริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)
พนักงาน หมายถึง พนักงานประจำ พนักงานชั่วคราว พนักงานสัญญาจ้างพิเศษ
ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หมายถึง การดำเนินกิจกรรมใด ๆ ที่อาจมีความต้องการส่วนตัว หรือของบุคคลที่เกี่ยวข้องไม่ว่าโดยทางสายเลือด หรือทางอื่นใด เข้ามามีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ หรืออาจขัดขวาง หรือเป็นอุปสรรคต่อผลประโยชน์สูงสุด
สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใด    หมายถึง เงิน ทรัพย์สิน สิ่งของ หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่กันเพื่อเป็นรางวัลตอบแทน
สินบน หมายถึง เงิน ของขวัญ รางวัล หรือประโยชน์อื่นใดที่ให้แก่บุคคลเพื่อจูงใจให้กระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดที่ไม่สุจริต ผิดกฎหมาย หรือผิดจรรยาบรรณธุรกิจ
คู่สัญญา หมายถึง ผู้ที่ยอมผูกพันและมีสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบตามที่ปรากฎในสัญญาที่ได้ทำไว้กับบริษัท
ประเพณีนิยม หมายถึง เทศกาล หรือวันสำคัญ หรือกิจกรรมของคนในสังคมที่มีการปฏิบัติสืบต่อกันมา และมีความสำคัญต่อสังคม
ผู้มีส่วนได้เสีย หมายถึง ผู้ถือหุ้น ลูกค้า คู่ค้า/เจ้าหนี้ คู่แข่งทางการค้า พนักงาน ภาครัฐ ชุมชน/สังคม และสิ่งแวดล้อม

จรรยาบรรณธุรกิจ
           1. นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์
           2. นโยบายในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทและการดูแลการใช้ข้อมูลภายใน
           3. นโยบายความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
           4. นโยบายระบบการควบคุมและตรวจสอบภายใน และการรายงานทางการเงิน
           5. นโยบายและการปฏิบัติต่อลูกค้า
           6. นโยบายในการปฏิบัติต่อคู่ค้าและ/หรือ เจ้าหนี้
           7. นโยบายและการปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า
           8. นโยบายและการปฏิบัติต่อพนักงาน
           9. นโยบายในการปฏิบัติตนของพนักงานและการปฏิบัติต่อพนักงานอื่น
           10. นโยบายการรักษาและการใช้ทรัพย์สินของบริษัท
           11. นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น  
           12. นโยบายในการให้ หรือรับของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด
           13. นโยบายการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
           14. นโยบายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
           15. นโยบายการเคารพกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน 
           16. นโยบายความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม
           17. นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
           การติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติ
           การแจ้งข้อร้องเรียน / ข้อเสนอแนะ
           กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับข้อร้องเรียน
           การทบทวนจรรยาบรรณธุรกิจ
           มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน / ผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
 
คณะกรรมการบริษัท ได้กำหนดแนวทางในการปฏิบัติไว้ดังนี้
           1. นโยบายความขัดแย้งทางผลประโยชน์
          นโยบายในการบริหารงานของบริษัท คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบริษัทเป็นสำคัญ ซึ่งกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน จะต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ผลประโยชน์ของตนขัดแย้งกับผลประโยชน์ของบริษัทหรือไม่ บริษัทจึงได้กำหนดแนวทางให้กรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน พึงปฏิบัติดังนี้
          1.1 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่แสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง หรือเพื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาชิกในครอบครัว เครือญาติ เพื่อน หรือคู่ค้าของตน โดยใช้ตำแหน่งหน้าที่หรือโอกาสต่าง ๆ จากการทำงานในบริษัท
          1.2 หลีกเลี่ยงการลงทุน การดำเนินการ หรือผลประโยชน์ในรูปแบบใด ๆ ที่อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความซื่อสัตย์ หรือชื่อเสียงของบริษัทหรือพนักงานเอง
          1.3 ไม่ปฏิบัติงานให้กับผู้อื่น ทำธุรกิจภายนอก หรือทำงานส่วนตัว ที่อาจส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานและผลประโยชน์ของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกอบธุรกิจ หรือการเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับธุรกิจของบริษัท ไม่ว่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม
          1.4 พนักงานหรือครอบครัวมีกิจการที่มีลักษณะเดียวกันหรือสัมพันธ์กับธุรกิจของบริษัท ต้องแจ้งให้บริษัททราบ
          1.5 พนักงานที่เป็นกรรมการ และ/หรือ ที่ปรึกษา ในบริษัทอื่น ต้องไม่ขัดต่อประโยชน์ และ/หรือการปฏิบัติหน้าที่โดยตรง และต้องได้รับการอนุมัติจากบริษัท
           1.6 กรณีที่มีรายการที่อาจมีความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือรายการที่เกี่ยวโยงกันอื่น ๆ บริษัทจะพิจารณาความเหมาะสมอย่างรอบคอบก่อนที่จะทำรายการทุกรายการ และคำนึงถึงประโยชน์ของบริษัทเป็นสำคัญ โดยกำหนดให้กรรมการ หรือผู้บริหาร ที่มีส่วนได้เสียในการทำรายการใด ๆ ไม่มีสิทธิออกเสียงอนุมัติการทำรายการนั้น ทั้งนี้ บริษัทจะปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศ หรือข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ อย่างเคร่งครัด
 
           2. นโยบายในการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทและการดูแลการใช้ข้อมูลภายใน
          บริษัทมีนโยบายในการซื้อขายหลักทรัพย์และวิธีการดูแลการใช้ข้อมูลภายในของบริษัท ที่ยังไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนและผู้อื่น ดังนี้
          2.1 บริษัทได้แจ้งให้กรรมการและผู้บริหาร รับทราบถึงภาระหน้าที่ในการรายงานการถือหลักทรัพย์ในบริษัท ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ตาม มาตรา 59 และบทกำหนดโทษ ตามมาตรา 275 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ซึ่งรวมถึงการเปลี่ยนแปลงการถือครองหลักทรัพย์ในบริษัท ของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และจัดส่งสำเนารายงานนี้ให้แก่บริษัทในวันเดียวกับวันที่ส่งรายงานต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
          2.2 ห้ามกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงาน ใช้ข้อมูลภายในของบริษัทที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชนอันเป็นสาระสำคัญ ซึ่งมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหลักทรัพย์ของบริษัทไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ต้องระงับการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทในช่วง 1 เดือน ก่อนที่งบการเงินหรือข้อมูลภายในนั้นจะเปิดเผยต่อสาธารณชน และห้ามเปิดเผยข้อมูลที่เป็นสาระสำคัญนั้นต่อบุคคลอื่น
          บริษัทได้กำหนดโทษทางวินัยสำหรับผู้แสวงหาผลประโยชน์จากการนำข้อมูลภายในบริษัทไปใช้ หรือนำไปเปิดเผยจนอาจทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย โดยพิจารณาลงโทษตามควรแก่กรณี ได้แก่ การตักเตือนด้วยวาจา การตักเตือนเป็นหนังสือ การภาคทัณฑ์ ตลอดจนการเลิกจ้างพ้นสภาพการเป็นพนักงานด้วยเหตุไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกแล้วแต่กรณี เป็นต้น
 
           3. นโยบายความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น
          บริษัทมีนโยบายที่จะดำเนินธุรกิจอย่างซื่อสัตย์สุจริต เป็นธรรม และอย่างสุดความสามารถ เพื่อที่จะพัฒนากิจการให้เติบโต และสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน โดยยึดหลักการปฏิบัติอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันต่อผู้ถือหุ้น รวมทั้งมีการเปิดเผยสารสนเทศอย่างเพียงพอ และไม่ดำเนินการใด ๆ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์กับบริษัท
 
          4. นโยบายระบบการควบคุมและตรวจสอบภายใน และการรายงานทางการเงิน
          4.1 แสดงให้เห็นว่ามีความโปร่งใสในการกำหนดนโยบาย และการปฏิบัติงานของบริษัททั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก และการให้คุณให้โทษแก่บุคคลภายในบริษัท
          4.2 รับผิดชอบต่อการตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติงานตามลำดับชั้น และให้ความร่วมมือในการตรวจสอบการปฏิบัติงานทั้งจากหน่วยงานภายในบริษัทและบุคคลภายนอก
          4.3 ปฏิบัติงานอย่างมีความเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่อยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มผลประโยชน์ใด
          4.4 รักษาความซื่อตรง ไม่ก่อให้เกิดความสงสัยว่ามีเจตนาไม่สุจริต หรือตกอยู่ภายใต้อิทธิพลการชี้นำของบุคคล หรือกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเจตนาไม่สุจริต
          4.5 ระมัดระวังการบันทึกบัญชี และทะเบียนข้อมูลต่าง ๆ โดยไม่ปกปิด ปลอมแปลงข้อมูลใด ๆ และไม่แจ้งรายการที่เป็นเท็จ หรืออาจทำให้เข้าใจผิด
          4.6 ให้พนักงานแจ้งผู้บังคับบัญชาหากพบเห็นการทุจริตที่ก่อให้เกิดความเสียหาย
 
           5. นโยบายและการปฏิบัติต่อลูกค้า
          5.1 บริษัทส่งมอบสินค้าที่มีคุณภาพให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยราคาที่เป็นธรรม โดยสินค้าที่ส่งมอบมีความปลอดภัย และมีมาตรฐานต่อการใช้งานของลูกค้า
          5.2 ไม่บิดเบือน หลอกลวง หรือทำให้หลงเชื่อในข้อมูลสินค้า และมีการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการและพัฒนาสินค้าให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ
          5.3 ให้ความสำคัญและรักษาข้อมูลที่เป็นความลับของลูกค้า โดยไม่นำข้อมูลของลูกค้าไปใช้ในประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น
          5.4 มีศูนย์บริการร้องเรียนให้ลูกค้าได้ร้องเรียนความไม่พอใจในสินค้าและบริการ
 
           6. นโยบายในการปฏิบัติต่อคู่ค้าและ/หรือ เจ้าหนี้
          บริษัทมีนโยบายปฏิบัติต่อคู่ค้าและ/หรือเจ้าหนี้อย่างเสมอภาคและเป็นธรรม ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริงและทันต่อเหตุการณ์ ตลอดจนปฏิบัติตามพันธะสัญญาอย่างเคร่งครัดในเรื่องต่อไปนี้
          6.1 ให้การจัดหาสินค้าและบริการเป็นไปอย่างมีมาตรฐานและมีจริยธรรมโดยดำเนินการภายใต้หลักการ คือ
                    - มีการแข่งขันจากผู้เสนอราคาและคัดเลือกอย่างเหมาะสมเป็นธรรม
                    - มีหลักเกณฑ์ในการประเมินและคัดเลือกคู่ค้าและคู่สัญญา
                    - จัดทำรูปแบบสัญญาที่เหมาะสมไม่เอาเปรียบคู่สัญญา
                    - จัดให้มีระบบการจัดการและติดตามเพื่อให้มั่นใจว่ามีการปฏิบัติตามเงื่อนไขของสัญญาอย่างครบถ้วน เพื่อป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดหา
          6.2 ให้บริการตามมาตรฐานวิชาชีพที่ดี มีคุณภาพด้วยความซื่อสัตย์ยุติธรรม
          6.3 รักษาความลับของคู่ค้าและคู่สัญญา ไม่ดำเนินธุรกิจโดยมิชอบระหว่างคู่ค้าและคู่สัญญา
          6.4 รักษาไว้ซึ่งการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม โดยอยู่บนหลักเกณฑ์การตัดสินใจให้สามารถเปรียบเทียบเงื่อนไข ราคา คุณภาพ รวมถึงบริการต่าง ๆ อย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้
          6.5 ให้การพัฒนาและรักษาสัมพันธภาพที่ยั่งยืนกับคู่ค้าและคู่สัญญาที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนในเรื่อง คุณภาพของสินค้าและบริการที่คุ้มค่ากับมูลค่าเงิน คุณภาพทางด้านเทคนิค และมีความเชื่อถือซึ่งกันและกัน
          6.6 การดำเนินธุรกิจระหว่างคู่ค้าและคู่สัญญาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค
 
           7. นโยบายและการปฏิบัติต่อคู่แข่งทางการค้า
          7.1 บริษัทดำเนินธุรกิจการแข่งขันทางการค้ากับคู่แข่งอย่างเป็นธรรม ไม่โจมตี ใส่ร้าย บิดเบือนข้อมูลเพื่อประโยชน์ของบริษัทโดยปราศจากเหตุผล
          7.2 สนับสนุนการแข่งขันที่เป็นธรรมในสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค ไม่มีการร่วมมือกับคู่แข่งขันเพื่อลดคุณภาพสินค้า และราคาสินค้า ที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย
          7.3 ไม่แสวงหาข้อมูลความลับของคู่แข่งโดยวิธีการที่ไม่สุจริต หรือขัดต่อจรรยาบรรณทางการค้า
 
           8. นโยบายและการปฏิบัติต่อพนักงาน
          บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานซึ่งเป็นทรัพยากรที่สำคัญ และมีส่วนช่วยส่งเสริม ผลักดันให้องค์กรบรรลุถึงเป้าหมาย ดังนั้น บริษัทจึงมีนโยบายที่จะดูแลพนักงานให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสภาพการจ้างที่ยุติธรรม มีสวัสดิการที่เหมาะสม และมีโอกาสพัฒนาความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยมีแนวทางปฏิบัติดังนี้
          8.1 กำหนดผลตอบแทนให้พนักงานทุกระดับชั้นในอัตราที่เหมาะสมและเป็นธรรม โดยให้ความสำคัญในเรื่องสวัสดิภาพ ความมั่นคง และความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของพนักงานเป็นหลัก
          8.2 จัดเตรียมเครื่องมือ อุปกรณ์ การจัดทำระเบียบปฏิบัติการอบรมและการควบคุมการปฏิบัติงาน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน
          8.3 ปฏิบัติตามกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพนักงานอย่างเคร่งครัด และจะนำมาตรฐานที่เป็นสากลในการจัดการมาใช้บังคับในกรณีที่ไม่มีกฎหมาย ข้อบังคับ และข้อกำหนดใช้อยู่ ณ ปัจจุบัน
          8.4 แต่งตั้งและโยกย้ายพนักงาน รวมถึงการให้รางวัลและการลงโทษ บริษัทจะกระทำด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม และตั้งอยู่บนพื้นฐานความรู้ ความสามารถ และความเหมาะสมของพนักงาน
          8.5 สนับสนุน ส่งเสริมและให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความรู้ ความสามารถ และทักษะของพนักงาน โดยให้โอกาสพนักงานอย่างทั่วถึงทุกระดับชั้น อย่างสม่ำเสมอเป็นประจำ
          8.6 จัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อให้พนักงานที่เป็นสมาชิกกองทุน มีหลักประกันว่าจะได้รับเงินตอบแทนเป็นสวัสดิการ ภายหลังจากการสิ้นสภาพจากการเป็นพนักงานไม่ว่าด้วยเหตุใด เว้นแต่การกระทำความผิดอันก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัท
          8.7 เปิดโอกาสให้พนักงานที่มีปัญหาเนื่องจากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพการทำงาน สภาพการจ้าง การบังคับบัญชา และไม่สามารถปรับปรุงแก้ไขด้วยตนเอง โดยยื่นเรื่องผ่านช่องทางการร้องทุกข์ตามระบบและกระบวนการที่กำหนด
          8.8 รับฟังข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะ จากพนักงานทุกระดับอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค
 
           9. นโยบายในการปฏิบัติตนของพนักงานและการปฏิบัติต่อพนักงานอื่น
          9.1 พึงปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ มุ่งมั่น ซื่อตรง โปร่งใส ไม่ทุจริตต่อหน้าที่ หรืออาศัยตำแหน่งหน้าที่ แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น
          9.2 ปฏิบัติงานให้ตรงเวลาตามที่บริษัทกำหนด มีจิตสำนึกในการรักษาเวลาอย่างเป็นนิสัย
          9.3 เคารพในสิทธิของพนักงานอื่น รวมทั้งเชื่อฟังฝ่ายที่มีหน้าที่บริหารจัดการภายใต้คำแนะนำหรือคำสั่งโดยชอบ
          9.4 พนักงานที่มีตำแหน่งหน้าที่เป็นผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตนให้เป็นที่เคารพนับถือของพนักงานที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชา และพนักงานที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการไม่เคารพนับถือผู้บังคับบัญชา
          9.5 มีระเบียบวินัยและประพฤติปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง และหนังสือที่ออกในนามบริษัท รวมถึงยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมองค์กรอันดีงาม ไม่ว่าบริษัทจะได้ระบุไว้เป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ก็ตาม
          9.6 มีหน้าที่ร่วมสร้างสรรค์ สมัครสมานสามัคคี และเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน
          9.7 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความขยันขันแข็ง เต็มกำลังความสามารถ รวมถึงให้ความร่วมมือในการช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน แม้มิได้เป็นงานที่ตนเองรับผิดชอบก็ตาม
          9.8 ช่วยกันรักษาความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามหลักการ 5 ส ซึ่งได้แก่ สะสาง สะดวก สะอาด สุขลักษณะ และสร้างนิสัย ทั้งภายในสำนักงานและบริเวณโรงงาน
          9.9 มีหลักในการสร้างมนุษย์สัมพันธ์ มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน โดยมีหลักคิดที่ดี เช่น พนักงานจะต้องประพฤติปฏิบัติตนต่อผู้อื่น เสมือนที่เราต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราเช่นเดียวกัน
          9.10 หลีกเลี่ยงการกระทำใด ๆ อันอาจมีผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพพจน์ของบริษัท หรือสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นแก่บริษัทในภายหลัง
 
           10. นโยบายการรักษาและการใช้ทรัพย์สินของบริษัท
          พนักงานมีหน้าที่รักษาและใช้ทรัพย์สินของบริษัท ดังนี้
          10.1 มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาเครื่องจักร เครื่องมือ และอุปกรณ์การทำงานให้อยู่ในสภาพดี เป็นระเบียบเรียบร้อยตามความจำเป็น หรือตามควรแก่หน้าที่ของตน รวมถึงการใช้ทรัพย์สินของบริษัท ด้วยความระมัดระวังและรับผิดชอบ โดยให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยอยู่เสมอ และติดต่อ ซ่อมแซมเมื่อเกิดการชำรุดแม้มิใช่หน้าที่รับผิดชอบโดยตรงของตนก็ตาม
          10.2 ไม่นำเครื่องมือเครื่องใช้ หรือทรัพย์สินของบริษัท ไปใช้ประโยชน์ส่วนตัว หรือประโยชน์ของผู้อื่น โดยไม่ได้รับอนุญาต
          10.3 ไม่ทำลาย ต่อเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลงประกาศ แผ่นป้าย เอกสาร บันทึก รายงาน หรือหลักฐานต่าง ๆ ของบริษัทโดยพลการ
          10.4 ช่วยกันระมัดระวังและป้องกันทรัพย์สินในบริเวณที่ทำงานหรือในโรงงาน โดยมิให้สูญหาย หรือเสียหายจากบุคคลใด หรือจากภัยพิบัติอื่นเท่าที่สามารถจะกระทำได้
          10.5 ไม่ทำงานให้กับบุคคลภายนอก หรือองค์กรอื่นใด ซึ่งมีการให้ประโยชน์ตอบแทนในระหว่างเวลาทำงานของบริษัท เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากบริษัท หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
          10.6 ปฏิบัติตามกฎระเบียบและข้อบังคับว่าด้วยการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเครื่องใช้ในระบบคอมพิวเตอร์
          10.7 ไม่ฝ่าฝืนระเบียบหรือคำสั่งของบริษัทอันอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือทำให้ทรัพย์สินของบริษัทเสียหาย
 
           11. นโยบายการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น 
          บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการต่อต้านการทุจริตและรับสินบนเพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ โดยกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้
          11.1 ต้องไม่มีผลประโยชน์ทั้งทางตรงและแอบแฝง ทั้งส่วนตน ครอบครัว และพวกพ้อง กับบริษัท เช่น กระทำการใด ๆ เพื่อขายสินค้าและบริการให้กับบริษัท หรือแข่งขันกับบริษัท
          11.2 หลีกเลี่ยงการรับเลี้ยงจากผู้ที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจกับบริษัท หรือจากผู้อื่น ซึ่งอาจได้ประโยชน์จากการปฏิบัติงานของพนักงาน
          11.3 ไม่เรียกหรือรับผลประโยชน์ที่ไม่ชอบธรรม ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม หรือประโยชน์อื่นใด เพื่อให้ได้มาซึ่งประโยชน์ทางธุรกิจ รวมถึงไม่ใช้ประโยชน์จากสินบนหรือการทุจริตโดยมิชอบในการประกอบธุรกิจ
 
           12. นโยบายในการให้ หรือรับของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด
          บริษัทได้กำหนดข้อพึงปฏิบัติที่ดีในการให้ หรือรับของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด ดังนี้
          12.1 กรณีการให้ หรือรับของขวัญ หรือประโยชน์อื่นใด เป็นการให้ตามเทศกาล หรือตามประเพณีนิยมซึ่งถือเป็นเรื่องปกติที่พึงปฏิบัติ ไม่ควรจะมีมูลค่าสูง ไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย และไม่มีผลกระทบต่อการตัดสินใจในการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงการไม่ทำให้บริษัทเสียประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ
          12.2 พนักงานย่อมไม่เรียก รับ หรือยินยอมที่จะรับเงิน สิ่งของหรือประโยชน์อื่นใดเป็นการส่วนตัวจากลูกค้า คู่ค้า หรือจากบุคคลอื่นใด อันเนื่องมาจากการทำงานในนามบริษัท
 
           13. นโยบายการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ์
          13.1 พนักงานต้องไม่นำข้อมูล และความลับของบริษัท เช่น ข้อมูลที่มาจากความคิด ความรู้เทคนิคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการงาน ราคาการประมูล ทุกกรณี ให้ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัท ไม่ว่าจะได้มีการจดทะเบียนตามกฎหมายเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ ห้ามเผยแพร่โดยมิได้รับอนุญาตจากบริษัท หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษร
          13.2 พนักงานต้องไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ ์ใด ๆ เช่น คัดลอก ทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ ผลงานต่าง ๆ รวมไปถึงซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ สำหรับพนักงานที่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาหรือลิขสิทธิ ์ใด ๆ มีความผิดทางวินัย และตามกฎหมาย
          13.3 พนักงานมีหน้าที่รายงานต่อผู้บังคับบัญชา กรณีพบการกระทำที่เห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิ หรือการกระทำที่อาจทำให้เกิดข้อพิพาทเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา
 
           14. นโยบายการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
          14.1 บริษัทมีนโยบายที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์อย่างจริงจัง
          14.2 พนักงานจะได้รับสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลสารสนเทศต่าง ๆ ของบริษัท ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบ และจะใช้ได้เฉพาะส่วนที่พนักงานมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงเท่านั้น
          14.3 พนักงานต้องไม่แทรกแซงความเป็นส่วนบุคคลของผู้อื่น และไม่เผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความลับของบริษัท
          14.4 ห้ามพนักงานนำซอฟต์แวร์มาติดตั้งหรือบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ของบริษัท โดยมิได้รับอนุญาต
          14.5 ระบบสารสนเทศของบริษัทสามารถตรวจสอบได้ มีความถูกต้องแม่นยำและทันสมัย
          14.6 บริษัทมีการศึกษาและพัฒนาซอฟต์แวร์อยู่เสมอ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับระบบงานของบริษัท
          14.7 พนักงานต้องหลีกเลี่ยงจากการใช้เว็บไซต์ที่ผิดกฎหมาย ละเมิดศีลธรรม อีกทั้งไม่เผยแพร่ข้อมูลของเว็บไซต์ดังกล่าวต่อผู้อื่น
 
           15. นโยบายการเคารพกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน 
          15.1 บริษัทให้ความสำคัญในเรื่องการเคารพและปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้
                    15.1.1 ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และเคารพจารีตประเพณีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
                    15.1.2 ปฏิบัติตามข้อกำหนดของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                    15.1.3 ปฏิบัติตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนด
                    15.1.4 ไม่ส่งเสริมการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายหรือข้อบังคับของทางราชการ
                    15.1.5 ไม่เลือกปฏิบัติจากความแตกต่างด้านเชื้อชาติ ศาสนา เพศ หรือสถานภาพใด ๆ
          15.2 การใช้สิทธิทางสังคมและการเมือง
          พนักงานบริษัทมีสิทธิเสรีภาพที่จะเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ในสังคมได้ โดยหลีกเลี่ยงการกระทำอันไม่ถูกต้อง ขัดกับกฎหมายหรือศีลธรรม ทำให้สังคมไม่สงบสุข และรักษาไว้ซึ่งเกียรติและศักดิ ์ศรีแห่งตน ให้เป็นที่ยอมรับตามควรแก่สถานะในสังคมและชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่ โดยกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้
                    15.2.1 ไม่กระทำการอันอาจทำให้เข้าใจได้ว่า บริษัทมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือให้การสนับสนุนพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด
                    15.2.2 ไม่กระทำการใดที่อาจสร้างหรือก่อให้เกิดความแตกแยกในหมู่พนักงานหรือกับชุมชนที่บริษัทตั้งอยู่
 
           16. นโยบายความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม
          16.1 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ภายในองค์กรปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับด้านความปลอดภัยอาชีว อนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม
          16.2 กรณีพบเห็นการเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัยหรือผู้ประสบเหตุบริเวณโรงงาน หรือภายในสำนักงาน ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดจากพนักงานเอง เครื่องจักร หรือสิ่งของต่าง ๆ รวมถึงการพบเห็นอุบัติภัย ไม่ว่าจะมีผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์นั้นหรือไม่ก็ตาม ให้ถือเป็นหน้าที่ของพนักงานทุกคนที่พบเห็นต้องแจ้งให้กับผู้บังคับบัญชา หรือคณะกรรมการความปลอดภัย หรือผู้เกี่ยวข้องทราบทันที
          16.3 มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่า และรักษาสิ่งแวดล้อม มิให้เกิดผลกระทบต่อสังคมสิ่งแวดล้อม
          16.4 ส่งเสริมและปลูกจิตสำนึกให้พนักงานเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมกระบวนการนำทรัพยากรที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่
          16.5 มีระบบการทำงานที่มุ่งเน้นให้เกิดความปลอดภัยและสุขอนามัยในสถานที่ทำงานอย่างเหมาะสม เช่น การจัดสถานที่ทำงานให้สะอาดและถูกสุขลักษณะตามหลักการ 5 ส เพื่อให้บุคลากรของบริษัทตลอดจนผู้เข้ามาติดต่อปลอดภัยจากอุบัติเหตุ โรคภัยที่เกิดจากการทำงาน และสิ่งแวดล้อมบริเวณสถานที่ทำงาน
          16.6 ผู้บริหารและพนักงานเอาใจใส่อย่างจริงจังต่อกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณภาพด้านความปลอดภัยอาชีว อนามัยและสิ่งแวดล้อม โดยปฏิบัติงานด้วยจิตสำนึกถึงความปลอดภัย และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง
          16.7 พนักงานต้องปฏิบัติตามกฎความปลอดภัยในการทำงานอย่างเคร่งครัด รวมถึงผู้มีตำแหน่งบังคับบัญชาและคณะกรรมการความปลอดภัยที่มีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยโดยตรง มิให้พนักงานมีการฝ่าฝืนกฎแห่งความปลอดภัย อีกทั้งพนักงานที่พบเห็นผู้ฝ่าฝืนกฎแห่งความปลอดภัยต้องรายงานผู้เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว
          16.8 บริษัทให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและองค์กรต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสังคม รวมถึงการระงับเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุอันเกิดจากการปฏิบัติงานด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
          16.9 บริษัทจะป้องกันอุบัติเหตุและควบคุมการปล่อยของเสียให้อยู่ในมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด
 
           17. นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคม
          17.1 ร่วมกันพัฒนาบุคลากรในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อรองรับการขาดแคลนแรงงาน และเป็นการส่งเสริมทักษะ และศักยภาพ ตลอดจนความรู้ในวิชาชีพแก่บุคคลในชุมชนและสังคม โดยบริษัทได้เข้าร่วมโครงการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี ซึ่งเป็นการร่วมมือกันระหว่างสถานศึกษากับสถานประกอบการ ที่จะผลิตช่างฝีมือออกไปสู่ตลาดแรงงานให้มีคุณภาพที่ตรงตามความต้องการ
          17.2 บุคลากรทุกระดับมีความรับผิดชอบและยึดมั่นในการดูแลชุมชนในบริเวณใกล้เคียง และผู้มีส่วนได้เสียโดยรวมเป็นสำคัญ โดยบริษัทได้มีนโยบายให้มีการจัดฝึกอบรมพนักงานเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
          17.3 ดำเนินกิจกรรมเพื่อร่วมสร้างสรรค์สังคมและชุมชน เพื่อให้ชุมชนในบริเวณใกล้เคียงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
          17.4 ตอบสนองอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อันเนื่องมาจากการดำเนินงานของบริษัท โดยให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่กับเจ้าหน้าที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
          17.5 เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ส่งเสริม สนับสนุนทางด้านวัตถุปัจจัยให้แก่วัดวาอารามต่าง ๆ ทั้งในเขตชุมชนบริเวณใกล้เคียง หรือตามสถานที่ต่าง ๆ เช่น เทศกาลแห่เทียนพรรษา ทอดกฐิน ผ้าป่า ตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น
          17.6 ร่วมทำบุญ บริจาคเงิน สิ่งของ และทรัพย์สินที่ไม่ใช้แล้วแต่ยังเป็นประโยชน์กับผู้อื่น รวมถึงผลผลิตของบริษัท เช่น เหล็กประเภทต่าง ๆ โดยมอบให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ สมาคมต่าง ๆ หรือผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ เพื่อช่วยเหลือและนำไปใช้ประโยชน์ตามความจำเป็นสำหรับสถานที่ต้องการ
 
การติดตามดูแลให้มีการปฏิบัติ
          บุคลากรของบริษัททุกคนต้องรับทราบและทำความเข้าใจจรรยาบรรณธุรกิจฉบับนี้ เพื่อยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการทำงาน ผู้ละเว้นย่อมถูกสอบสวนและลงโทษทางวินัยตามความเหมาะสม อาจถึงขั้นให้พ้นจากการเป็นพนักงาน และอาจถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในกรณีการกระทำนั้นผิดกฎหมาย
          การปฏิบัติตามจรรยาบรรณดังกล่าว ไม่อาจกำหนดให้ครอบคลุมได้ในทุกกรณี หากพนักงานประสบปัญหาในการตัดสินใจหรือปฏิบัติงานเกี่ยวกับจรรยาบรรณธุรกิจที่มิได้กำหนดไว้ ให้ท่านตอบคำถามกับตัวเองก่อนในเบื้องต้นดังนี้
          - เป็นสิ่งที่ถูกต้องหรือไม่
          - เป็นที่ยอมรับและสามารถเปิดเผยต่อสังคมได้หรือไม่
          - เป็นการกระทำที่ส่งผลในทางลบต่อความซื่อสัตย์หรือชื่อเสียงของบริษัทหรือพนักงานเองหรือไม่
          กรณีไม่แน่ใจ หรือไม่อาจตัดสินใจได้ว่าการตัดสินใจของตนนั้นจะถูกต้องหรือไม่ ควรปรึกษาหรือสอบถามผู้บังคับบัญชาที่ตนเองไว้วางใจในทุกระดับ หรือผู้จัดการสำนักประธานกรรมการบริหาร หรือผู้จัดการฝ่ายบุคคลและธุรการ หรือผู้ตรวจสอบภายใน หรือกรรมการ แล้วแต่กรณี
 
การแจ้งข้อร้องเรียน / ข้อเสนอแนะ
          บริษัทคาดหมายว่า บุคลากรของบริษัทจะช่วยกันสอดส่อง ดูแลการปฏิบัติตามจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้พนักงานและผู้มีส่วนได้เสียแจ้งข้อร้องเรียน / ข้อเสนอแนะ เมื่อพบพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การทุจริต การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือกฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ หรือขัดต่อจรรยาบรรณธุรกิจ หรือขัดต่อหลักการกำกับดูแลกิจการ สามารถส่งข้อร้องเรียน / ข้อเสนอแนะ ได้โดยตรงที่เลขานุการบริษัท / ผู้จัดการสำนักประธานกรรมการบริหาร หรือ กรรมการตรวจสอบ (กรรมการอิสระ) โดยผ่านช่องทางต่าง ๆ ดังนี้
          1. ทางไปรษณีย์ ส่งถึง เลขานุการบริษัท / ผู้จัดการสำนักประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) เลขที่ 636 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150
          2. ทางอีเมล์
                    - secretary@richasiacorp.com
                    - audit@richasiacorp.com
 
กระบวนการดำเนินการเมื่อได้รับข้อร้องเรียน
          ผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้รวบรวมและกลั่นกรองข้อมูล โดยแยกแยะเรื่องที่เกี่ยวข้องออกเป็นแต่ละประเด็น และรายงานต่อประธานกรรมการบริหาร / กรรมการผู้จัดการ เพื่อพิจารณาขั้นตอนและวิธีการจัดการที่เหมาะสมในแต่ละเรื่อง ในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญจะรายงานต่อคณะกรรมการตรวจสอบ และ/หรือคณะกรรมการ แล้วแต่กรณี
          การรายงานผล ให้ผู้รับข้อร้องเรียนมีหน้าที่รายงานผลให้ผู้ร้องเรียนทราบหากผู้ร้องเรียนเปิดเผยตนเอง
การทบทวนจรรยาบรรณธุรกิจ
          คณะกรรมการบริษัท กำหนดให้มีการทบทวนคู่มือ “จรรยาบรรณธุรกิจ” เป็นประจำทุกปี
 
มาตรการคุ้มครองผู้ร้องเรียน / ผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง
          ผู้ร้องเรียน หรือผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะได้รับความคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
          1. ผู้ร้องเรียน / ผู้ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง สามารถเลือกที่จะไม่เปิดเผยตนเองได้ หากเห็นว่าการเปิดเผยนั้นจะไม่ปลอดภัย แต่หากมีการเปิดเผยตนเองก็จะทำให้บริษัทสามารถรายงานความคืบหน้า และชี้แจงข้อเท็จจริงให้ทราบ หรือบรรเทาความเสียหายได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น
          2. ผู้รับข้อร้องเรียน / ผู้ที่ได้รับมอบหมาย จะเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องไว้เป็นความลับ/คํานึงถึงความปลอดภัย โดยได้กําหนดมาตรการคุ้มครองพนักงานที่ร้องเรียน และ/หรือ ผู้ที่ให้ข้อมูล และ/หรือ ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อมูล โดยจะได้รับความคุ้มครองจากการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
          3. กรณีที่ผู้ร้องเรียน / ผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง เห็นว่าตนอาจได้รับความไม่ปลอดภัย หรืออาจเกิดความเดือดร้อนเสียหาย สามารถร้องขอให้บริษัทกำหนดมาตรการคุ้มครองที่เหมาะสมก็ได้ หรือบริษัทอาจกำหนดมาตรการคุ้มครองโดยไม่มีการร้องขอก็ได้ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีแนวโน้มที่จะเกิดความเดือดร้อนเสียหาย หรือความไม่ปลอดภัย
          4. ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจะได้รับการบรรเทาความเสียหายด้วยกระบวนการที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม
 
 
 
 
 
 
 


 
 
สงวนลิขสิทธิ์ 2556 บริษัท ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)      โทรศัพท์. (66)2-453-6277     โทรสาร. (66)2-453-6288  
  636 ถนนบางขุนเทียน-ชายทะเล แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ 10150      อีเมล์. richasiacorp@richasiacorp.com